ธุรกิจจะก้าวหน้า บริษัทจะเติบโต พนักงานจะทำงานอย่างมีความสุข ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่การบริหารจัดการในองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรจะสามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้เร็วแค่ไหน ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะตอบรับกับเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะเข้ามาช่วยยกระดับองค์กรให้สามารถตอบรับกับความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นหรือไม่
จากสถิติของการนำ ‘Enterprise Technology’ หรือเทคโนโลยีสำหรับองค์กรมาใช้งาน จะเห็นว่าหลังจากการเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจกว่า 44% ต่างกำลังเร่งเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล รวมถึง 76% ได้วางแผนสำหรับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวทางด้านไอทีแล้ว เพื่อช่วยในการดูแลลูกค้าเดิมและเข้าถึงลูกค้าใหม่ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กรให้ดีขึ้น
วันนี้เราจะพาทุกคนไปสำรวจ 7 เทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจและเทคโนโลยีย้ำว่า ทุกบริษัทต้องมี หรือ เตรียมความพร้อมที่จะมี ในปี 2023 นี้
Robotic Process Automation (RPA)
เทคโนโลยีแรกที่เราจะพูดถึงคือ Robotic Process Automation หรือ RPA ซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ที่เข้ามาช่วยการทำงานรูปแบบซ้ำๆ ช่วยลดระยะเวลาและความผิดพลาดที่เกิดจาก Human Error จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจทำงานได้มีประสิทธิภาพได้ดีขึ้นในอนาคต
โดยเทคโนโลยี RPA ถูกนำไปใช้กับหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะ กลุ่มธุรกิจการผลิต กลุ่มธุรกิจการเงิน การธนาคาร การประกันภัย และธุรกิจสุขภาพ อย่างไรก็ตามการลงทุนนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในระดับ Enterprise ยังมีต้นทุนสูง รวมถึงยังมีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากรที่เข้ามาบริหารจัดการระบบ
ซึ่งในประเทศไทยเองมีศูนย์บริการ IPAC (Intelligent Process Automation Center) ที่จัดตั้งโดย PTT Digital ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศระดับ Enterprise ร่วมมือกับ SS&C Blue Prism ผู้นำด้านซอฟต์แวร์ Intelligent Automation หรือ IA และ RPA ระดับโลก ให้บริการเทคโนโลยี RPA ในระดับองค์กรอย่างครบวงจร
ไม่ว่าจะเป็นบริการบอทสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน ไปจนถึงกระบวนการให้คำปรึกษา ออกแบบและพัฒนาระบบขึ้นใหม่ ดำเนินงานด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพร้อมต่อยอดสนับสนุนการทำงานให้ครบทุกฟังก์ชั่นงาน อาทิ หน่วยงานการเงิน หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง และหน่วยงานทรัพยากรบุคคล ฯลฯ เสริมศักยภาพในการให้บริการเทคโนโลยี Intelligent Automation แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME, บริษัทจัดตั้งใหม่, Startup, Innovator และ Digital Citizen เข้าถึง IA และ RPA Ecosystem ด้วยต้นทุนที่คุ้มค่ามาตรฐานระดับสากล
Digital Immune System
เพราะข้อมูลสารสนเทศมีความสำคัญกับภาคธุรกิจมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในการสร้างรายได้ จึงไม่แปลกที่จะทำให้ระบบป้องกันความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและความปลอดภัยมีความสำคัญมากขึ้น
Digital Immune System (DIS) หรือเทคโนโลยีที่ผสมผสานกลยุทธ์ทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นระบบสังเกตการณ์ ระบบอัตโนมัติ ระบบทดสอบขั้นสูง เพื่อป้องกันความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้งาน อธิบายง่ายๆ ให้เห็นภาพ ก็คือระบบไอทีที่จะช่วยเสริมเกราะป้องกันให้กับระบบการทำงานต่างๆ ที่เป็นดิจิทัลของเรา ลดโอกาสที่ระบบจะล่มหรือจะถูกโจมตี แล้วยังช่วยให้เราสามารถกู้คืนระบบกลับมาใช้งานตามปกติได้เร็วขึ้นด้วย ดังนั้น DIS จึงมีความสำคัญมากขึ้น เพราะจะสามารถช่วยเพิ่มความพึงพอใจและประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นได้ในอนาคต
Applied Observability
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลคือ Applied Observability หรือเทคโนโลยีที่จะช่วยเฝ้าติดตามและนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ ทำให้การวางแผนแม่นยำขึ้น ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความได้เปรียบ โดยตัวเทคโนโลยีจะทำหน้าที่เฝ้าติดตามและรวบรวม ทั้งข้อมูลภาพรวมในการทำงาน ประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน และการวัดผลการทำงานของระบบไอทีต่างๆ ภายในองค์กร รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เพื่อนำมาผสมกันและบูรณาการใช้ในองค์กร ช่วยลดเวลาในการตัดสินใจ
AI Trust, Risk, and Security Management (AI TRiSM)
ปัจจุบันไม่ว่าจะธุรกิจประเภทใด มีการใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน ทั้งในด้านการดำเนินการและการบริหารงาน ทำให้เทคโนโลยีที่จะช่วยจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัยให้กับระบบปัญญาประดิษฐ์มีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจมากขึ้น เพราะ AI TRiSM เป็น Framework ในการกำกับดูแล AI ที่มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อ เป็นส่วนตัว และปลอดภัย ทำให้การดำเนินการต่างๆ ภายในบริษัทโปร่งใส ไว้ใจได้
หรืออธิบายง่ายๆ คือ AI ต้องใช้ ‘ข้อมูล’ ของผู้ใช้มาพัฒนาระบบให้ฉลาดและตอบสนองผู้ใช้ได้ดีขึ้น แต่เมื่อ ‘ข้อมูล’ เหล่านั้นมากขึ้นก็ทำให้ผู้ใช้กังวลว่า ข้อมูลที่ให้ไปจะปลอดภัยหรือไม่ เสี่ยงที่จะถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว ถูกนำออกไปใช้ผิดประเภท จึงต้องมีระบบที่จะช่วยทำให้ AI มีความน่าเชื่อถือ (Trust) สามารถควบคุมความเสี่ยง (Risk) และเพิ่มความปลอดภัย (Security)
โดยในอนาคตอันใกล้ไม่เกินปี 2026 เราจะเห็นเทคโนโลยี AI ที่สามารถปรับปรุงผลลัพธ์ในการนำไปใช้จริงมากขึ้นถึง 50%
Industry Cloud Platforms
เทคโนโลยีที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ Industry Cloud Platforms หรือเทคโนโลยีคลาวด์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวและความรวดเร็วในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย Industry Cloud Platforms ถูกออกแบบมาให้ใช้ในแต่ละอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เช่น ระบบ Cloud ที่รองรับอุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น เพื่อให้ตอบโจทย์ขององค์กรที่แตกต่างกันที่คลาวด์ทั่วไปไม่สามารถทำได้
เช่นในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Industry Cloud Platforms จะช่วยรองรับเรื่องพื้นฐานอย่างการจัดซื้อจัดจ้าง การเงินการบัญชี และเรื่องพื้นฐานอื่นๆ พร้อมกับสามารถตอบโจทย์เฉพาะของอุตสาหกรรม อย่างเช่นเก็บข้อมูลกำลังการผลิต คำนวณประสิทธิภาพ และรายงานผลได้ เพื่อให้องค์กรซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การคิดค้นหาโซลูชันใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ขยายตัวง่ายขึ้น มีความคล่องตัว ลดเวลา ทำให้องค์กรเพิ่มมูลค่าได้อย่างรวดเร็ว
รายงานจาก Gartner บอกว่า เกือบ 40% ของผู้ตอบแบบถามได้เริ่มใช้ Industry Cloud Platforms แล้ว อีกประมาณ 15% กำลังเริ่มใช้ต้นทดลองใช้งาน ขณะที่อีก 15% อยู่ระหว่างพิจารณาหันมาใช้งาน Industry Cloud Platforms ภายในปี 2026
Platform Engineering
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ คือ Platform Engineering ที่ถูกจับตามองมากในปีนี้ เพราะในยุคสมัยที่ซอฟต์แวร์มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ การทำงานของเหล่า ‘นักพัฒนาซอฟต์แวร์’ และฝ่ายคนทำงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายพัฒนา UX/UI ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล ฝ่ายการตลาด ฝ่ายบริการลูกค้านั้นก็ทำงานยากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
Platform Engineering จึงเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในกระบวนการทำงานระหว่างฝ่ายต่างๆ ช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ปกติแล้วต่างคนต่างทำงาน สามารถนำงานมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันได้ง่ายขึ้น คล้ายๆ กับที่แต่ละองค์กรก็จะต้องมีแพลตฟอร์มตัวกลางในการทำงานเพื่อให้การทำงานเป็นระบบ อาทิ Slack, Basecamp หรือว่า Trello แต่เฉพาะเจาะจงในเชิงเทคนิคและซับซ้อนกว่า
โดยจะช่วยลดเวลาทำงาน เพิ่มความคล่องตัว ทำให้นักพัฒนาฯ สามารถส่งมอบซอฟต์แวร์และออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด
โดยจากแนวโน้มคาดว่า 80% ขององค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับวิศวกรรมซอฟต์แวร์จะต้องมี Platform Engineering ของตัวเองภายในปี 2026
Wireless-Value Realization
ส่วน Wireless-Value Realization หรือเทคโนโลยีเชื่อมโยงอุปกรณ์ไร้สายในระดับองค์กรอย่างเช่นอุปกรณ์ IoT เซ็นเซอร์ มือถือ คอมพิวเตอร์ฯลฯ ที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านระบบเครือข่ายต่างๆ ให้สามารถรองรับอุปกรณ์จำนวนมากๆ ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบติดตามตำแหน่ง ตรวจจับเรดาห์ หรือระบบอื่นๆ ที่เอื้อต่อการทำงานตภายในองค์กร ช่วยให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น เช่น ระบบติดตามตำแหน่งอุปกรณ์ไร้สายที่อยู่ในรถขนส่งที่จะช่วยให้องค์กรทราบตำแหน่งและเวลาในการขนส่งสินค้าที่แน่ชัด แจ้งข้อมูลให้กับลูกค้าได้ถูกต้องและรวดเร็ว
โดยคาดว่าภายในปี 2025 องค์กรจะหันมาใช้เครือข่ายไร้สายนอกเหนือไปจากเรื่องการสื่อสารมากขึ้น เพิ่มจากเดิมที่มีการใช้งานในองค์กรอยู่เพียง 15%
นอกจาก 7 เทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่ามีอีกหลายเทคโนโลยีที่น่าสนใจและมาแรง แต่ยังอยู่ในช่วงบุกเบิก ไม่ว่าจะเป็น Superapps หรือ Adaptive AI รวมถึง Metaverse ที่แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ วางรากฐาน แต่เป็นเทคโนโลยีที่แต่ละองค์กรควรเริ่มจับตามองต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับเทคโนโลยีในกลุ่ม Sustainability ที่จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
หลังการเข้ามาของโควิด-19 เปลี่ยนแปลง ‘ความไม่ปกติ’ ให้กลายเป็น ‘ความปกติใหม่’ ในอดีตธุรกิจต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน ตอนนี้ยิ่งต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้ได้เร็วยิ่งกว่าเดิม เพราะโลกหลังจากนี้จะเป็นโลกที่คาดเดาได้ยากมากกว่าเดิม ยิ่งใครเข้าถึง เข้าใจ และเข้าไปหยิบจับเทคโนโลยีแห่งอนาคตมาเปลี่ยนแปลงองค์กรก่อนก็จะกลายเป็นผู้ได้เปรียบในสงครามแห่งอนาคต
แหล่งข้อมูล
https://www.ciodive.com/news/gartner-tech-trends-symposium/634251/
https://olive.app/blog/6-enterprise-technology-trends-for-2023/