เมื่อประเทศเปลี่ยน เทคโนโลยีดิสรัป ‘BOI’ จะปรับตัวอย่างไร ให้ยืนหยัดได้ในโลกการลงทุน

    

        หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของ BOI (Board of Investment) หรือรู้จักในชื่ออย่างเป็นทางการว่า 'สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน' หน่วยงานด้านส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางที่สุดหน่วยงานหนึ่งในประเทศไทย เพราะ BOI ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการอำนวยความสะดวกในการลงทุน ให้กับนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศมาแล้วกว่า 56 ปี 

        นับตั้งแต่ช่วงที่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่พึ่งเปิดรับการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ จนมาถึงวันที่ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและทักษะแรงงาน จนสามารถเปิดรับการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีชั้นสูงได้ แน่นอนว่าโลกธุรกิจและการลงทุนย่อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลให้บทบาทในการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ยากขึ้นและท้าทายมากขึ้นอีก 

        เมื่อประเทศเปลี่ยน โลกการลงทุนปรับ BOI ต้องรับมือกับอะไรและรับมือยังไง มารับฟังวิสัยทัศน์ของคุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศ การดิสรัปของเทคโนโลยี ความก้าวหน้าของโลกการลงทุน และการปรับตัวให้ BOI ยังยืนหยัดได้ในโลกยุคใหม่

 

คุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

 

ประเทศเปลี่ยน โลกการลงทุนปรับ

        คุณชนินทร์ เล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ 'การส่งเสริมการลงทุน' อย่างน่าสนใจว่า ในอดีตประเทศไทยถือเป็น 'ประเทศเกษตรกรรม' ที่มีจำนวนประชากรมาก ทำให้ภาครัฐสามารถส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมได้ โดยการดึงแรงงานจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมด้วยค่าจ้างราคาถูก

        การส่งเสริมการลงทุนในยุคนั้น เน้นนำเสนอให้นักลงทุนเห็นว่า ประเทศไทยเอื้ออำนวยต่อการลงทุนและมีแรงงานพร้อมสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกที่ตอบสนองต่อตลาดโลกได้ หรือที่เรียกว่า Low-Cost Country โดยบทบาทของ BOI ในยุคนั้นจึงมีหลักๆ สามอย่าง คือ อำนวยความสะดวก ให้สิทธิประโยชน์บางประการ และประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดรับการลงทุน

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

        แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีค่าแรงเพิ่มขึ้น จึงไม่สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสู้กับประเทศที่มีค่าแรงราคาถูกกว่าได้แล้ว ทำให้ต้องขยับไปสู่การดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น อย่างเช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมซ่อมสร้างเครื่องบิน หรืออุตสาหกรรมดาวเทียม เป็นต้น

        เมื่อต้องการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงก็จำเป็นจะต้องใช้แรงงานที่มีทักษะความรู้  นอกเหนือจากการส่งเสริมให้ธุรกิจดังกล่าวเข้ามาลงทุนแล้ว อีกบทบาทของ BOI คือการส่งเสริมด้านการศึกษา ถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับคนไทยรวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานทางภาคการศึกษาต่างๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างบุคลากรให้ตรงกับอุตสาหกรรมใหม่

        นอกจากนั้น ด้วยรูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป BOI ในยุคใหม่จึงต้องทำงานกับคนมากขึ้น ต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนนโยบายที่รวดเร็วขึ้น และพร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานด้านส่งเสริมการลงทุนมากขึ้นด้วย

 

คุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

 

ปรับรับความท้าทาย เสริมแกร่งองค์กรด้วยเทคโนโลยี 

      ‘อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง’ กลายเป็นที่จับตาของทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียวเท่านั้น การดึงดูดนักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาในเมืองไทยจึงเป็น ‘ความท้าทาย’ อย่างแท้จริง นอกจากการปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างทันท่วงทีแล้ว ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุน เพื่อนำไปสู่การบอกต่อ และการเชื่อมโยงนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาในไทยด้วย คุณชนินทร์ได้กล่าวไว้ว่า “สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องเผชิญ คือ การติดต่อขออนุญาตและขอสิทธิประโยชน์ต่างๆ การบริการภาครัฐจึงจำเป็นจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปสู่สมัยใหม่ เพื่อให้นักลงทุนไม่มีภาระหรือมีภาระน้อยที่สุด”

      BOI ได้ส่งเสริมให้มีการก่อตั้ง สมาคมสโมสรนักลงทุน’ เพื่อมารับช่วงเป็นผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเพื่อการส่งออกให้กับเอกชน ซึ่งสมาคมจะมีความสามารถในการว่าจ้างบุคคลากรมารองรับปริมาณงาน รวมทั้งว่าจ้างพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องอ้างอิงกับระบบราชการเดิมของ BOI และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ จากระบบออฟไลน์สู่ออนไลน์ ส่งผลให้การดำเนินการขออนุญาตด้านต่างๆ จาก BOI ใช้เวลาลดลงเป็นอย่างมาก

ระบบที่ดีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน

 

      อย่างเช่น ระบบงานฐานข้อมูล RMTS หรือ บริหารจัดการการใช้สิทธิและประโยชน์ด้านวัตถุดิบที่นำมาใช้ส่งออก ซึ่งทีมงานสมาคมสโมสรนักลงทุนพัฒนา และปรับปรุงร่วมกับ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด สามารถช่วยลดเวลาในการดำเนินการของธุรกิจลง ทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองกับธุรกิจได้มากขึ้น จากในอดีตต้องใช้เวลาดำเนินการ 3 วันลดเหลือเพียงแค่ 3 ชั่วโมง และพัฒนาต่อเนื่องจนตอนนี้ใช้เวลาเพียงเสี้ยวนาทีเท่านั้น เพราะเป็นการพิจารณาอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สำหนักลงทุนทำให้นักลงทุนสามารถทำธุรกิจ ด้วยขั้นตอนที่น้อยลงและใช้เวลาที่น้อย มีความสะดวกมากขึ้น

      ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนให้การตอบรับเป็นอย่างดีกับระบบบริการดิจิทัล ของ BOI ทำให้มองเห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ความคาดหวังในบริการก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเป็นโจทย์ต่อไปที่ BOI ต้องเร่งเดินตามให้ทัน ท่ามกลางความท้าทายจากระบบงานแบบดั้งเดิมที่ยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อน 

 

BOI เดินหน้าสู่เป้าหมาย การลงทุนไทยไร้รอยต่อ ใช้ระบบดิจิทัล 100% 

      ปัจจุบันแม้ระบบงานบริการของ BOI จะยังไม่เป็นดิจิทัลแบบครบทุกรูปแบบ แต่คุณชนินทร์ มีเป้าหมายว่า จะต้องทำให้เป็นดิจิทัล 100% ให้ได้ในอนาคต ไม่ใช่แค่ใช้กับระบบการพัฒนาบริการเท่านั้น แต่รวมถึงระบบฐานข้อมูลเปิด (open data) เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่จะนำไปตัดสินใจในเชิงนโยบาย หรือนำไปสู่การริเริ่มลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ของประเทศไทย

      อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของการส่งเสริมการลงทุนในยุคดิจิทัล คือ การพัฒนา ‘ระบบไร้รอยต่อ’ ที่ทำให้นักธุรกิจนักลงทุนสามารถทำธุรกิจได้ โดยเสมือนว่าไม่ต้องคำนึงถึงว่าต้องการขออนุญาตหรือขอสิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก BOI ซึ่งหมายถึงการลดขั้นตอนขออนุญาตที่ไม่จำเป็นต้องมีออกไป โดยระบบจะต้องดำเนินการแบบไร้รอยต่อเสมือนว่าธุรกิจไม่จำเป็นจะต้องขออนุญาตใดๆ 

 

     

        คุณชนินทร์ทิ้งท้ายไว้ว่า “BOI ในฝันของผมคือ BOI ที่สามารถจัดการได้ด้วยระบบดิจิทัลและนักลงทุนสะดวกที่สุด เปลี่ยนจากความคิดที่จะยื่นคำขอต่อ BOI แล้วรอว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่ เป็นให้นักลงทุนตัดสินใจว่าต้องการหรือไม่ แล้วสามารถเดินหน้าทำตามขั้นตอนและรับสิทธิประโยชน์ไปได้เลย ในขณะที่ BOI ขยับไปทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาหาโอกาสในการลงทุนที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ทำการตลาดเลือกนักลงทุนที่เหมาะสมเข้ามาในประเทศไทย พร้อมๆ กับทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และสร้างเครือข่ายที่ดีให้กับนักลงทุน”