4 เทคโนโลยีเปลี่ยนยุค AGING SOCIETY ให้เป็นเรื่องที่จัดการได้ง่ายๆ

   

 

 

D-Summary 

1). ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
2). 4 เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุได้แก่ เทคโนโลยี sensor เทคโนโลยีด้านการเคลื่อนไหว หุ่นยนต์รับคำสั่ง Virtual Service และการปรับรูปแบบเทคโนโลยีในปัจจุบัน
3). เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ต้องตอบโจทย์ทั้งทางกายภาพและทางใจ
4). หากเราสามารถนำเทคโนโลยีที่มีมาปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุ จะเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าให้แก่บริษัท

           

          ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ทำให้มนุษย์อยู่บนโลกใบนี้ได้ยาวนานมากขึ้น บวกกับจำนวนเด็กแรกเกิดและการเสียชีวิตที่น้อยลง ทำให้สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เราจึงมีตัวเลขประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ คำจำกัดความของผู้สูงอายุในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกัน ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรป ผู้สูงอายุหมายถึง ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป สำหรับประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติ ผู้สูงอายุหมายถึงบุคคลผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งตรงกับองค์กรอนามัยโลก (WHO)

         สำหรับบทความฉบับนี้ Digital Connect จะพาทุกท่านไปรู้จักกับเทคโนโลยีแต่ละแบบที่ถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ

 

1. เทคโนโลยี Sensor

         Sensor เป็นเทคโลยีเปลี่ยนโลก และเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนยุคปัจจุบัน มากกว่านั้น sensor ถูกนำมาใช้ในแง่การ monitor ผู้สูงอายุขณะที่พวกเราไม่ได้อยู่กับท่าน  ปัจจุบันมี Application เช่น Livelyhome, Philips CareSensus, Silver Mother Sensor และอีกหลายแบรนด์ที่มีอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับติดภายในบ้าน และติดสิ่งของ เช่น ประตู ตู้เย็น กล่องยา ขวดยา เพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวในสิ่งของที่ผู้สูงอายุใช้งานเป็นประจำ บาง app ถึงขนาดมีระบบแจ้งเตือน เช่นหาก sensor นี้ถูกนำไปติดที่กล่องยา และถ้าผู้สูงอายุไม่ได้จับกล่องยาในเวลาที่กำหนด sensor จะส่งสัญญาณเตือนเข้า app เพื่อให้ผู้สูงอายุทานยา นอกจากนี้บางแบรนด์ยังมีบริการ call center คอยมอนิเตอร์ผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อ call center ตรวจพบข้อมูล sensor ที่ผิดปกติไปจากการใช้ชีวิตประจำวัน call center จะติดต่อไปยังผู้สูงอายุเพื่อแจ้งเตือน และให้คำแนะนำ หรือหากเกิดกรณีฉุกเฉิน จะมีการติดต่อเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปช่วยเหลือได้ในช่วงเวลาฉุกเฉิน

         นอกจากนี้ sensor ยังถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ โดยมาในรูปแบบ adhesive  device ใช้ในการตรวจวัดชีพจร ยกตัวอย่างเช่น BioStamp สำหรับติดบนร่างกายมีลักษณะคล้ายสติกเกอร์ไร้สายสัญญาณระโยงระยาง BioStamp มีหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย คลื่นหัวใจ และระบบการทำงานของสมอง รวมทั้งส่งผลเหล่านั้นไปสู่ smartphone เพื่อทำการวิเคราะห์ผล ช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลทราบสถานะร่างกายทันที และระบบนี้อาจนำมาพัฒนาเพิ่มเพื่อให้เชื่อมกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งมีระบบคอยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ติดต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

2. เทคโนโลยีด้านการเคลื่อนไหว

           หนึ่งในปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุนั้นคือการเคลื่อนที่ การเดินทาง ปัจจุบันมีเครื่องอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนที่เป็นจำนวนมาก เช่น walker ที่เปรียบเหมือนรถใส่ของในซุปเปอร์มาเก็ต หรือแม้กระทั่งการสร้างอุปกรณ์ช่วยเดินแบบ Honda ที่เมื่อใส่แล้ว ผู้สูงอายุหรือผู้พิการจะเดินได้เหมือนคนปกติ และจะลดปัญหาเรื่องการเดินขึ้นลงบันได หรือขึ้นลงพื้นที่ชัน เหมือนกลับมาเดินได้คล่องอีกครั้ง

  Honda Walking Assist Device  

ภาพ: Honda Walking Assist Device

 

        และสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินได้แม้แต่น้อย เก้าอี้บังคับสำหรับผู้สูงอายุที่มีฟังก์ชั่นแบบรถเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก ถึงแม้จะเจอบันไดก็ตาม เมื่อนั่งเก้าอี้ตัวนี้ ผู้สูงอายุจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ลิฟท์หรือเก้าอี้ไฟฟ้าเพื่อขึ้นลงภายในบ้าน

   

ภาพ: Scalevo - The Stairclimbing Wheelchair

3. เทคโนโลยีหุ่นยนต์รับคำสั่ง

        AI นั้นเริ่มมีบทบาทกับคนมากขึ้น กลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องใช้ AI ไม่ใช่มีเพียงภาคอุตสาหกรรม สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุก็มีความจำเป็นเช่นกัน โดยมีบริษัทบางแห่งผลิต AI ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตภายในบ้านได้สะดวกขึ้น เช่น ElliQ AI ที่เมื่อผู้สูงอายุต้องการฟังเพลง เพิ่มเสียง ลดเสียง ต้องการเปิดปิดไฟตรงไหน AI จะสั่งการให้ได้หมด มากกว่านั้น AI ยังให้ความรู้ผู้สูงอายุในเรื่องประโยชน์ของอาหาร และเตือนผู้สูงอายุให้ทานยา ทานน้ำ ทานอาหาร ให้ตรงเวลา เรียกว่าเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เปรียบเสมือนคนรู้ใจใกล้ตัว 
 
         รวมทั้งเพื่อบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า โดย พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยาสุขภาพจิต กล่าวว่า ในประเทศไทยนั้นพบ ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มากถึง 10-20 % ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งถึงแม้ AI จะไม่ใช่มนุษย์ แต่สำหรับผู้สูงอายุบางท่าน AI อาจช่วยบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวได้
 
 

ภาพ : ElliQ Beta User's testimonials

 
 
 
         หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์แบบกายภาพที่เคลื่อนที่ได้ ก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยผู้สูงอายุหยิบของและเก็บของเข้าที่ให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น หุ่นยนต์ที่บริษัท Toyota สร้างชื่อว่า Toyota Human Support Robot (HSR)
 
   
 
          นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์ที่สนทนากับผู้สูงอายุได้โดยคิดเองพูดเอง รวมทั้งเต้นให้ความบันเทิงผู้สูงอายุแบบที่ University of Hertfordshire ได้สร้างขึ้น
 
   
 
4. เทคโนโลยี Virtual Service
           หากกล่าวถึงเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร เทคโนโลยีนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจบริการไปมาก เช่น บริการพบแพทย์จากที่บ้านเพียงคุณมี Smart Device ที่มีกล้อง Facecam และเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพบหมอและปรึกษาคุณหมอได้เบื้องต้น โดยไม่จำเป็นต้องให้เราพาไปโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งการเที่ยวเป็นกลุ่มแบบ Virtual Style สำหรับผู้สูงอายุ ที่ Renderver ได้สร้างแว่น VR ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสโลกกว้างในสถานที่ต่างๆ แบบสดๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่แห่งนั้น และได้มีการทดลองถ่ายทอดสด superbowl ที่เป็นงานระดับประเทศที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีความสะดวกในการขึ้นอัฒจันทร์สูงๆ หรือไปในสถานที่พลุกพล่านได้รับชม Super Bowl แบบสดๆ ในแบบ 3 มิติ
          
 
 

ภาพ: Smart tech finds home in senior care

การพัฒนา Application ที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ  

          นอกจากเทคโนโลยีใหม่ ในหัวข้อนี้อยากชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วก็เพียงพอที่จะประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์คนยุคใหม่และกลุ่ม Baby Boomer เช่น บริการ Delivery ที่มีมายาวนาน หากเราเอามาปรับเป็นบริการส่งยาตามบ้าน หรือบริการเรียกรถจากบ้าน โดยทำ User Interface ให้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เราก็จะได้กลุ่มลูกค้าใหม่ที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น หลักสำคัญคือ เราต้องทราบถึงไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้สูงอายุ รวมทั้งไลฟ์สไตลของผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างช่องทางการค้าและชิงความได้เปรียบแก่ธุรกิจของบริษัท

         เทรนด์ผู้สูงอายุถือเป็น Megatrend สำหรับปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ไม่เฉพาะทางกายภาพ แต่รวมถึงด้านจิตใจเข้าไปด้วย และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง การทำธุรกิจที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ก็อาจเป็นโอกาสที่ดีในการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้กับธุรกิจไปในตัว

 

References 

ผู้สูงอายุคืออะไร ?
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
รายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2560
Renderver
Super Bowl
Intel to Create Technologies for Elderly Health in Ireland
7 Technologies That Can Help Keep the Elderly Safe
BioStamp
แนะคนเกษียณราชการ ประเมินความสุข-ซึมเศร้า รับมือชีวิตเปลี่ยน
Renderver
Local seniors experience Patriots Super Bowl parade through virtual reality