D-Summary
การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันนอกจากการแข่งขันด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการแล้ว การเสริมประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานในมุมมองต่าง ๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะทุกกระบวนการทำงานล้วนมีส่วนในการสนับสนุนให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ
Digital Connect ได้รับทราบข้อมูลที่น่าสนใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้เสริมประสิทธิภาพการทำงานของสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เราจึงเดินทางไปสัมภาษณ์และพูดคุยที่มาแนวคิดการนำเทคโนโลยีมาใช้เสริมศักยภาพการดำเนินงานขนส่งและบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ กับ คุณสหเทพ ธรรมทัต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ, คุณประกอบ เบญจศิริลักษณ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารและควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ, คุณพลกฤษณ์ มังคละคุปต์ ผู้จัดการส่วนระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบปฏิบัติการ และทีมงาน โดยการสนทนาครั้งนี้ เป็นการเปิดมุมมองวิธีการนำเทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพกระบวนการทำงานได้อย่างน่าสนใจ
วิสัยทัศน์การบริหารงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
คุณสหเทพ เล่าวิสัยทัศน์การบริหารงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในมุมมองที่น่าสนใจว่า
“สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ทำหน้าที่ Transmission System Operator ปฏิบัติการขนส่งและบำรุงรักษาระบบส่งก๊าซธรรมชาติให้มีความต่อเนื่องและมีความปลอดภัยสูงสุดรวมถึงพัฒนาเครือข่ายระบบส่งก๊าซให้เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ ตามวิสัยทัศน์ “Trustworthy Gas Pipeline Operator” โดยหนึ่งในกลยุทธ์คือ Behave Digitalized & Competent มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนงานปฏิบัติการขนส่งก๊าซและบำรุงรักษาระบบท่อให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูงสุด เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด”
“เพื่อให้บรรลุซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าว เราให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดกลยุทธ์สู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ โดยจะดำเนินการผ่านการถ่ายทอดนโยบายตามลำดับ หรือ Policy Deployment ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การประชุม สัมมนา เวทีผู้บริหารพบพนักงาน และสารสื่อความต่าง ๆ ซึ่งผู้บริหารสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจะแฝง ค่านิยม SPIRIT+D ของ ปตท. อยู่ในเนื้อหาการสื่อความผ่านช่องทางต่าง ๆ ถ่ายทอดไปถึงพนักงานด้วย และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวมีการถ่ายทอดไปยังพนักงานผู้ปฏิบัติอย่างทั่วถึง เราจึงจัดตั้ง Cross Function Team ซึ่งเป็นทีมงานที่มาจากหลายฝ่ายมาทำงานร่วมกัน ได้แก่ คณะกรรมการดิจิทัลสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หรือ TDC (TSO Digital Committee) และ คณะทำงาน CoP Digital (Community of Practice Digital) เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งบทพิสูจน์การบรรลุเป้าหมายด้านคุณภาพการทำงานตามวิสัยทัศน์ คือการได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ปี 2553 ที่สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็น 1 ใน 2 สายงานของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลนี้ นอกจากนี้ ในปี 2562 สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติยังได้รับรางวัล PTT SPIRIT+D ระดับ Gold ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของการนำค่านิยม SPIRIT+D ของ ปตท. มาใช้ให้เกิดขึ้นจริง”
การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็น Key Enabler สนับสนุนการดำเนินงาน
เมื่อเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กรสามารถรับรู้โดยสมาชิกองค์กรอย่างถูกต้องตรงกัน สิ่งสำคัญในลำดับถัดไปคือการผลักดันกระบวนการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งคุณประกอบ เบญจศิริลักษณ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารและควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ ได้แบ่งปันแนวทางการดำเนินงานของสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไว้ดังนี้
“บทบาทของคณะกรรมการดิจิทัล หรือ TDC (TSO Digital Committee) ทำหน้าที่กำหนดทิศทางกลยุทธ์ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของสายงานระบบท่อส่งก๊าซฯ ให้สอดคล้องกับทิศทางของ ปตท. และกำหนดมาตรฐานพร้อมทั้งพัฒนา hardware, software และ ระบบสื่อสารให้รองรับงานปฏิบัติการและงานบำรุงรักษาการขนส่งก๊าซ รวมถึงกลั่นกรอง Initiatives ด้านดิจิทัลที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอขึ้นมาให้สอดคล้องกับทิศทางกลยุทธ์ มาตรฐาน และการบูรณาการกับระบบงานเดิม รวมถึงการขยายผลไปทั่วทั้งสายงาน นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงาน CoP Digital (Community of Practice Digital) ทำหน้าที่พิจารณาหา Solution ด้านดิจิทัลที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหา Pain Point หรือปรับปรุงงานด้านการปฏิบัติการและบำรุงรักษา (Operation & Maintenance) ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น”
คุณประกอบได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาโครงการด้านดิจิทัลของสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติประสบผลสำเร็จไว้ว่า “สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็น Key Enabler สนับสนุนการขนส่งก๊าซและบำรุงรักษาระบบท่อให้มีประสิทธิภาพความปลอดภัยสูงสุด หรือ Fully Automated O&M&M (Operate & Maintenance & Measurement) ผ่านแนวทางการพัฒนาโครงการด้านดิจิทัล 2 แบบคือ
โดยการพัฒนาทั้ง 2 ด้านต้องตอบโจทย์ Pain Point งานขนส่งก๊าซและบำรุงรักษาท่อ ที่ผ่านมาเราผลักดันให้เกิด Digital Project หลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการ PREACT หรือ Pipeline Real-Time Excavator Alarm and Continuous Tracking System ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง CoP Digital และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่”
พัฒนาศักยภาพการทำงานจาก “การเฝ้าระวัง” เป็น “แจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ”
หลายครั้งนวัตกรรมใหม่ ๆ มักเกิดจากไอเดียและความคิดของผู้ปฏิบัติงานที่อยู่หน้างาน ด้วยความใกล้ชิดและรู้ซึ้งถึงกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นจริงหน้างาน จึงสามารถระบุปัญหาจากการดำเนินงาน และแนวทางการแก้ไขได้อย่างตรงจุด คุณพลกฤษณ์ มังคละคุปต์ ผู้จัดการส่วนระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบปฏิบัติการ และทีมวิศวกรที่ดูแลท่อส่งก๊าซฯ ได้แก่ คุณดนัย ธนเมธี และ คุณชระสิงห์ ซ้ายขวัญ เล่าที่มาโครงการ PREACT ซึ่งคว้ารางวัล PTT Innovation Award สาขา SPARK Innovation ประจำปี 2019 มาได้ดังนี้ี้
“นวัตกรรมในโครงการ PREACT เกิดจากช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลมีโครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ โครงการ EEC (Eastern Economic Corridor) ทำให้เกิดการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกจำนวนมาก เช่น การขยายถนน การตัดถนนใหม่ และในเร็ว ๆ นี้จะเกิดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบท่อส่งก๊าซซึ่งอยู่ใต้ดิน และเมื่อมีผู้รับเหมาเข้ามาก่อสร้างในพื้นที่แนวท่อมากขึ้น จำนวนพนักงานสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจึงไม่เพียงพอต่อการตระเวนตรวจตราเฝ้าระวังแนวท่อเนื่องจากการลาดตระเวนเป็นแบบสุ่มหรือเชิงรับทำให้ไม่สามารถเจาะจงพื้นที่ๆ ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษได้ จึงเกิดแนวคิดในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัยของแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้น เปลี่ยนจากการเฝ้าระวังทั่วไปเป็นการ ป้องกันแจ้งเตือนก่อน
"แนวคิด (Concept) การพัฒนากระบวนการทำงานที่ทีมงานออกแบบไว้คือ เมื่อมีรถขุดของผู้รับเหมาเข้าไปใกล้แนวท่อในระยะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายให้กับแนวท่อจะเกิด Alarm การแจ้งเตือนแบบ Real-Time เพื่อให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังความเสี่ยงจากจุดเกิดเหตุและสามารถแจ้งเตือนยับยั้ง หรือป้องกันการเกิดความเสียหายได้อย่างทันท่วงที ซึ่งทีมงานพิจารณาเห็นว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยี Geofencing หรือการระบุพื้นที่ที่เราต้องการความเป็นส่วนตัว/เฝ้าระวัง ประกอบกับปัจจุบัน Sensor GPS มีราคาที่ถูกลงและมีความแม่นยำมากขึ้น ทีมงานจึงตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีนี้
"นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมด้านระบบ กระบวนสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องภายนอกองค์กรก็สำคัญไม่แพ้กัน ทีมงานได้เข้าไปสื่อสารให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกองค์กรตระหนักถึงวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับ และประสานงานขอแผนการก่อสร้างกับผู้รับเหมาของกรมทางหลวง และเข้าติดอุปกรณ์ Sensor และ Alarm ที่รถขุดเจาะ หลังการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ หากรถขุดเข้าใกล้แนวท่อส่งก๊าซในระยะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงจะมี Alarm แจ้งเตือนทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุจุดที่มีความเสี่ยงได้แบบ Real-Time สามารถวางแผนการเข้าตรวจสอบพื้นที่ตามความเสี่ยง ไม่ต้องสุ่มตรวจสอบ ประหยัดเวลา รวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้ทีมงานยังสามารถสื่อสารแจ้งเตือนผู้ขับรถขุดเพื่อให้ระมัดระวังการดำเนินงานได้อีกด้วย”
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
คุณพลกฤษณ์ และทีมงานซึ่งได้แก่ คุณดนัย และ คุณชระสิงห์ กล่าวถึงผลลัพธ์จากการนำเทคโนโลยีของโครงการ PREACT มาใช้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “หลังจากการนำเทคโนโลยีของโครงการ PREACT มาดำเนินงานทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเห็นได้ชัด 3 ด้านซึ่งได้แก่
1. Process Efficiency : กระบวนการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมเมื่อผู้รับเหมาจะทำงานต้องโทรแจ้งพนักงานของ ปตท. เพื่อเข้าไปตรวจสอบหน้างานว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ก่อนการทำงาน แต่เมื่อติดตั้งระบบ PREACT ในการทำงาน ระบบสามารถช่วยแจ้งเตือนและเฝ้าระวังความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำก่อนการเกิดเหตุ กระบวนการทำงานจึงพัฒนาเป็นการทำงานเชิงป้องกัน (Preventive) มากขึ้น
2. Time Efficiency : โครงการ PREACT ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการทำงานที่สามารถบริหารเวลาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่พนักงานต้องเฝ้าระวัง ตรวจตราตามระยะเวลาการทำงานที่กำหนดแบบ Time Base เมื่อมีระบบมาช่วยเฝ้าระวังทำให้ทีมงานสามารถปรับการทำงานให้เป็นแบบ Condition Base คือเฝ้าระวังจุดเสี่ยง และสามารถใช้เวลาดำเนินงานอย่างคุ้มค่ากับจุดที่พึงเฝ้าระวัง
3. Communication Efficiency : เดิมการประสานงานเฝ้าระวังดำเนินการได้เพียงระดับหัวหน้างาน ทีมงานไม่สามารถประสานงานกับคนขับรถได้โดยตรง จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการสื่อสารที่อาจไม่ถึงคนขับรถที่อยู่หน้างาน แต่เทคโนโลยีในโครงการ PREACT ช่วยให้ทีมงานสามารถสื่อสารกับคนขับรถเพื่อเฝ้าระวังได้โดยตรง ทั้งในส่วนที่อยู่ในแผน นอกแผน ลดความเสี่ยงต่อความเสียหายต่อแนวท่อได้มากขึ้น
ปัจจัยความสำเร็จ
ความสำเร็จของโครงการ PREACT ไม่เพียงต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในองค์กร แต่รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกองค์กรเช่น กรมทางหลวง และผู้รับเหมา คุณพลกฤษณ์ และทีมงานวิศวกร ได้บอกเล่าข้อมูลปัจจัยความสำเร็จจากการดำเนินโครงการ PREACT ว่ามาจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่
1. การได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและการเปิดโอกาสให้ User มีส่วนร่วม ออกแบบดีไซน์ เสนอความคิดต่าง ๆ เพื่อให้ระบบง่ายต่อการใช้งาน และมีประสิทธิภาพ
2. การได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในและนอกองค์กร เช่น User ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการ, กรมทางหลวง, ผู้รับเหมา และคนขับรถ ซึ่งการสื่อสารสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากแนวท่อส่งก๊าซเกิดความเสียหาย ทำให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้มีการแจ้งขอจากผู้รับเหมาและกรมทางหลวงให้ทีมงาน PREACT เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ระบบ PREACT ของทางโครงการด้วยตัวเองอีกด้วย
3. การมี Partner ผู้ให้บริการพัฒนาระบบอย่าง PTT Digital ซึ่งมี Platform ด้านการติดตามยานพาหนะและอุปกรณ์ภายใต้ชื่อ HERMES ที่พร้อมรองรับการพัฒนาเทคโนโลยี และประสบการณ์ในการให้บริการระบบควบคุมและติดตามรถขนส่งของ กลุ่ม ปตท. ประกอบกับทีมงาน PTT Digital มีความพร้อมด้านความรู้ ความเข้าใจในตัวเทคโนโลยีเป็นอย่างดีซึ่งตอบโจทย์สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้สำเร็จตามเป้าหมายได้
หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ คือ การได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากผู้บริหารองค์กร และการเปิดโอกาสให้ User มีส่วนร่วมในการออกแบบ และแสดงความคิดเห็น
การดำเนินงานของสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า “ความสำเร็จในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนากระบวนการทำงานในธุรกิจจะเกิดขึ้นได้จริงและมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการสื่อสารสร้างความตระหนักให้พนักงานมีเป้าหมายเดียวกันอย่างชัดเจน" เพียงเท่านี้เราทุกคนก็สามารถช่วยสนับสนุนให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้